ฝังเข็ม เป็นหนึ่งในห้าแขนงการรักษาของศาสตร์แพทย์แผนจีนที่มีต้นกำเนิดและพัฒนามานานกว่า 3,000 ปี ซึ่งในปัจจุบัน องค์การอนามัยโรค (WHO) ให้การรับรองแล้วว่า การฝังเข็มจัดเป็นการรักษาโรคที่ได้ผลอีกทางเลือกหนึ่งโดยมีหลักการคือ การใช้เข็มขนาดเล็ก ฝังตามจุดฝังเข็มบนร่างกาย ซึ่งเป็นจุดที่มีพลังงานมากกว่าจุดอื่น ๆ เพื่อทำให้พลังงาน และอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายที่เสียสมดุลไป กลับมาอยู่ในภาวะปกติ
ส่วนมุมมองด้านวิทยาศาสตร์ตามทฤษฎีวิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ การฝังเข็มถือเป็นวิธีการกระตุ้นระบบประสาทอย่างหนึ่งที่สามารถปรับการทำงานของระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายที่เสียสมดุลไปให้กลับสู่สภาพปกติโดยผ่านทางระบบประสาท ซึ่งเราเรียกกระบวนการนี้ว่า “Neuromodulation” ปัจจุบันมีการศึกษาพบว่า การฝังเข็มทำให้เกิดการหลั่งของสารชีวเคมีในร่างกายเพิ่มขึ้น มากกว่า 35 ชนิด แล้วแต่ตำแหน่งที่ใช้ฝังเข็ม ซึ่งจะมีผลต่อร่างกายในแง่ช่วยระงับอาการเจ็บปวด ลดการอักเสบ เพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงเฉพาะที่ ปรับระดับไขมันและสารเคมีอื่น ๆ ในร่างกายให้อยู่ในสภาพสมดุล รวมทั้งเสริมสร้างภูมิต้านทานให้แก่ร่างกาย